ที่ตั้ง
จังหวัดชัยภูมิ ตั้งอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทยห่างจากกรุงเทพฯ ทางรถยนต์ 332 กิโลเมตร หรือเป็นเวลา 4 ชั่วโมง ชัยภูมิยังใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่ประมาณ 12,778.3 ตารางกิโลเมตร หรือ 7,986,429 ไร่ และ ใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของประเทศ ทิศเหนือของชัยภูมิยังติดกับจังหวัดขอนแก่น และนครราชสีมา ทิศใต้ติดกับจังหวัดนครราชสีมา และทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดลพบุรี และเพชรบูรณ์
บุคคลสำคัญ
พระยาภักดีชุมพล (แล) หรือ เจ้าพ่อพญาแล
ตามหลักฐานพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒ เมืองเวียงจันทน์ก็เป็นประเทศราช ประเทศสยามขึ้นต่อกรุงเทพฯ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ โดยส่งบรรณาการต่อประเทศไทยอยู่นาน เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยขึ้นครองราชย์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พี่เลี้ยงราชบุตรในสำนักเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ชื่อ “แล” ครั้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๖๐ ได้ลาออกจากราชสำนักอพยพครอบครัว พร้อมด้วยนางบุญมี ศรีภรรยา นำประชากรประมาณร้อยครัวเรือนเศษข้ามแม่น้ำโขงตรงเมืองชัยบุรีเพราะที่ตรงนั้นน้ำขาดเขินสะดวกในการลำเลียงด้วยทางเดินซึ่งเป็นเนินเชิงเขาลำเนาไพร พอเดินทางถึงหนองบัวลำภูซึ่งเป็นพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน ได้นำพรรคพวก ครอบครัวพักอยู่บริเวณแห่งนี้หนึ่งเดือนเศษ อ้ายแลได้วินิจฉัยเห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะตั้งถิ่นฐาน จึงนำครอบครัวและคณะได้เดินทางต่อไปถึงลำตะคอง บ้านน้ำขุ่นหนองอีจาน ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาชาวบ้านที่อพยพมาด้วยก็ได้ประกอบอาชีพมีอยู่มีกิน อ้ายแลปกครองกันฉันพี่น้องปรองดองกัน
เมื่อพุทธศักราช ๒๓๖๒ การประกอบอาชีพของชาวบ้านเริ่มฝืดเคือง อ้ายแลจึงได้หาทำเลใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ได้ที่โนนน้ำอ้อม ชักชวนอพยพชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานประกอบอาชีพแห่งใหม่นี้ปัจจุบันอยู่ในท้องที่บ้านชีลอง ตำบลชีลอง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ อ้ายแลได้อบรมสั่งสอนราษฎรเหมือนเพื่อนบ้านสหายช่วยกันทำมาหากินไม่อดตาย การสร้างบ้านเมืองต้องสร้างตัวขึ้นมาก่อนราษฎรต้องเป็นสุข มีอาชีพเป็นหลักแหล่งมีน้ำใจ ใฝ่ศีลธรรม ไม่สิ้นสูญให้รู้จักเก็บทรัพย์ดีทวีคูณ ส่วนแม่บุญมี ช่วยฝึกฝ่ายหญิง อย่าอยู่นิ่งให้ช่วยกันทอหูกไน ปั่นไฝ่ด้าย ทอผ้าดำ ผ้าขาว ซ่าวสไบ ทอซิ่นหมี่ แต่งตีนหยก อ้ายแลได้สรรหาชายหนุ่มแน่นล้วนฉกรรจ์ฝึกกระบี่กระบอง ผองศาสตรา เรียนคาถาป้องกันตัว อ้ายแลเป็นผู้มีความสามารถ และมีลักษณะพิเศษกว่าบุคคลอื่น ๆ ในครั้งนั้นจึงได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้ารวบรวมผู้คนอยู่ในปกครอง สิบสองหมู่บ้านคือ ๑. บ้านสามพัน ๒. บ้านกุดตุ้ม ๓. บ้านกุดไก่ชน ๔. บ้านบ่อแกโทน ๕. บ้านบ่อหล่ม ๖. บ้านหนองใหญ่ ๗.บ้านโพธิ์ ๘. บ้านหลุบโพธิ์ ๙. บ้านโพธิ์นาล้อม ๑๐. บ้านโพธิ์พร้อม ๑๑. บ้านบุ่งคล้า ๑๒. บ้านท่าเสี้ยวหมู่บ้านที่อยู่ในปกครองล้วนขึ้นในครอบครองของเวียงจันทน์ เมื่อราษฎรมีอยู่ มีกิน มีความสุข เมื่อถึงวาระที่จะต้องถวายเครื่องบรรณาการ อ้ายแลได้คัดเลือกและจัดสรรเครื่องบรรณาการถวายแด่เจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ อ้ายแลเห็นว่าเจ้าอนุวงศ์ฯ เป็นเจ้านายเดิมที่ตนเคยรับใช้อยู่ เจ้าอนุวงศ์ฯ แสนยินดีจึงโปรดเกล้าตั้งบรรดาศักดิ์ให้กับอ้ายแลเป็น “ขุนภักดีชุมพล” อยู่ต่อมาโนนน้ำอ้อมมีราษฎรเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้นทำให้โนนน้ำอ้อมแออัด ขุนภักดีชุมพล (แล) ได้แสวงหาที่แห่งใหม่ใกล้ๆ กัน
เมื่อพุทธศักราช ๒๓๖๕ ขุนภักดีชุมพล (แล) ดำริว่าหนองปลาเฒ่า เข้าในฝันต้องเป็นที่ดีเด่นเห็นสำคัญ ออกปากวันตั้งบ้านนี้ที่ตายเรา จึงได้อพยพครอบครัวจากโนนน้ำอ้อม มาตั้งที่แห่งใหม่ระหว่างหนองหลอดและหนองปลาเฒ่า ให้ขนานนามบ้านนี้ว่า “บ้านหลวง” คนทั้งปวงย้ายมาอยู่เห็นที่ว่างต่างเลือกเอา ขุนภักดีชุมพล (แล) เป็นคนซื่อ ชื่อดังก้องชาวพี่น้องได้ฟังต่างแตกตื่นอพยพหลบเข้ามาเป็นจำนวนมากกลายเป็นเมือง ถึงฤดูกาล ขุนภักดีชุมพล (แล) ได้รวบรวมบรรณาการส่งไปถวายเจ้าอนุวงศ์ฯ ไม่ขาด ชาญฉลาดเพ็ดทูลไปตามเรื่อง เจ้าอนุวงศ์ฯ สงสัยในพลเมืองที่เข้ามาอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ด้วยความภักดีขุนภักดีชุมพล (แล) ต่อมามีชาวประชาแจ้งข่าว พบบ่อทองอยู่ในร่องภูขี้เถ้า คีรีศรี ขุนภักดีชุมพล (แล) สั่งให้สำรวจตรวจกันอย่างดี พบทองก้อนโขโหล่ โตจริงจริง น้ำหนักเกือบหนึ่งชั่ง มีคนหลั่งไหลกันเข้าไปขุด ได้เท่าไหร่มอบให้ขุนภักดีชุมพล (แล) ตามความจริงที่ขุดได้ เดิมบ่อทองนี้ชื่อ “บ่อโข่โหล่” แต่โยกโย้มีเรียกเพี้ยนว่า “บ่อโขโหล” ก็เรียกกันเลยตามเลย ภูขี้เถ้าตะวันออกเขาพญาฝ่อ เขตติดต่อกับจังหวัดเพชรบูรณ์ ไปวกวนแล้วจึงพันห้วยชื่อดัง วังชมพู ปัจจุบันในเขตพื้นที่อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๖๗ ขุนภักดีชุมพล พร้อมด้วยนางบุญมี ได้รวบรวมเครื่องบรรณาการมีผ้าขาวก้อนทอง ส่งถวายเจ้าอนุวงศ์ฯ ตามประสงค์ เจ้าอนุวงศ์ฯ ทรงเห็นก้อนทองก้อนโข่โหล่ และผ้าขาวตาลุกวาว เจ้าอนุวงศ์ฯ จับคลำน้ำพระทัยคลอ ชมขุนภักดีชุมพล (แล) นี่ฉลาดสามารถหาได้ทองมาล้ำค่าในทันทีที่ขุนภักดีชุมพล (แล) ได้ทูลเกล้าฯ ให้ขนานนามบุรีศรีที่ได้อพยพข้ามโขง ตรงชัยบุรีเมืองใหม่ขอให้ชื่อ”ชัยภูมิ” เจ้าอนุวงศ์ฯ รับสั่งให้ตั้งชื่อเมืองใหม่ตามที่ขุนภักดีชุมพล (แล) ทูลขอและโปรดเลื่อนบรรดาศักดิ์ข้ามขั้นให้ขุนภักดีชุมพล (แล) เป็น “พระภักดีชุมพล (แล)” เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ และนางบุญมีเป็น”ท้าวบุญมี” พระภักดีชุมพล (แล) ได้สร้างบ้านหลวงให้เป็นเมือง ข่าวเลื่องลือถึงกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๓ ทรงยินดี จึงทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าส่งสาส์นถึงพระภักดีชุมพล (แล) สามข้อคือ ให้รักษาสัตย์ สงวนศักดิ์ รักษาบ้านเมืองให้ดี ให้พระภักดีชุมพล (แล)ได้ปฏิญาณแล้วเข้าเป็นเจ้าเมือง คนทั้งหลายที่ศรัทธาได้เรียกว่า “เจ้าพ่อพญาแล” หมายถึงผู้เป็นใหญ่
พระยาภักดีชุมพล (แล) น้อมรับพระราชสาส์น ได้เป็นเจ้าเมือง แล้วหันหน้าไปทางกรุงเทพฯกราบสามครั้งแล้ว ต่อมามีชาวบ้านแจ้งว่าบ้านเมืองฝืดเคือง จึงได้ทำบุญใหญ่อย่างฉุกเฉิน บ้านบุ่งคล้า ทำบุญขอดโบสถ์ ได้เรียนเชิญพ่อเมือง พระยาภักดีชุมพล (แล) เป็นประธาน เจ้าเมืองก็ไปร่วมทำบุญด้วยเพราะเหตุว่าการทำบุญขอดโบสถ์ ฝังลูกนิมิต พระยาภักดีชุมพล (แล) ได้อธิษฐานจิตว่า
ขอเดชะ พระประธาน องค์ศักดิ์สิทธิ์
แลสุจริต บุญทาน การกุศล
ปิดนิมิต อุโบสถ ทศพล
เริ่มลูกต้น กลางโบสถ์ โชติตระการ
ปิดนิมิต ลูกเอก เสกประสาท
งานโอภาส มาสเฉลิม เสริมสัณฐาน
เป็นนิมิต เตือนตา สาธุการ
ท่ามกลางงาน บุญพิธี ผูกสีมา
เกิดชาติหน้า อย่ารู้เข็ญ ได้เป็นใหญ่
รูปวิไล เป็นเสน่ห์ ดังเรขา
ปิดนิมิต ลูกทิศ บูรพา
ให้ก้าวหน้า เกียรติยศ ปรากฏไกล
ปิดนิมิต ลูกทิศ อาคเนย์
ขอให้เท- วาประสิทธิ์ พิสมัย
ปิดนิมิต ทิศทัก ษิณศักดิชัย
ให้สมใจ สมบัติ วัฒนา
ปิดนิมิต ลูกทิศ หรดี
ขอให้ชี- วิตมั่น ชันษา
ปิดนิมิต ทิศประจิม อิ่มอุรา
ปรารถนา ใดได้ ดังใจปอง
ปิดนิมิต ทิศพายัพ ดับทุกข์โศก
นิราศโรค นิราศภัย ร้ายทั้งผอง
ปิดนิมิต ทิศอุดร กรประคอง
ได้เงินทอง สมหมาย ทุกรายไป
ปิดนิมิต ทิศอีสาน ประการท้าย
ให้สมหมาย ได้สุข ทุกสถาน
รวมเก้าลูก สุกใส ใจเบิกบาน
ตามตำนาน อธิษฐาน ของญาแล
พอกลับจากงานขอดโบสถ์ บอกท้าวบุญมีว่าเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทน์สั่งให้ปันเขตแดน เมืองชัยภูมิอ้ายจะต้องเดินป่าเขาพญาฝ่อ เขตติดต่อเพชรบูณ์ โดยถือเอาสันเขาเป็นตะวันออก ด้านทิศเขาตะวันตกเป็นของเพชรบูรณ์ ใช้เวลาปันแนวเขตอยู่สามสิบวัน โดยใช้พลายน้อย พลายเอก พลายหนุน จุอาหารเข้าประทุนพอเดินทางกลับถึงเมือง ท้าวบุญมีได้แต่งบายศรีเจ็ดชั้นงามสง่า สูตรขวัญให้ผู้ที่ไปกลับมา มีเจ้าเมือง เป็นต้น
เมื่อพุทธศักราช ๒๓๖๙ พระภักดีชุมพล (แล) เห็นว่าเวียงจันทน์ก็เป็นเมืองขึ้นต่อกรุงเทพฯ เมืองชัยภูมิ ก็อยู่ในความปกครองของนครราชสีมา จึงเข้าหาพระยาราชสีมา อาสาเก็บส่วยนำเครื่องบรรณาการมีทองคำ ผ้าขาว ซิ่นหมี่ ทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ที่กรุงเทพฯพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงโปรดเป็นอย่างยิ่งทรงส่งสาส์นที่พระภักดีชุมพล (แล) ให้อุตส่าห์ตั้งใจทำราชการปกครองบ้านเมืองไว้ให้สำคัญในพุทธศักราช ๒๓๖๙ นี้เอง เจ้าอนุวงศ์ฯ ทรงประหลาดใจว่าพระภักดีชุมพล (แล) เห็นเราไม่สำคัญจึงสั่งให้พระภักดีชุมพล (แล) เกณฑ์ชายฉกรรจ์ที่ล่ำสัน แข็งแรงกำลังหมี จำนวนห้าร้อยคนให้ได้ในทันทีส่งไปที่เวียงจันทน์ พระภักดีชุมพล (แล) จึงได้ซ่องสุมผู้คนไว้ลับ ๆ เป็นกองทัพย่อม ๆ เพื่อป้องกัน ถ้าเจ้าอนุวงศ์มารบเราก็สู้ไม่รั้งรอ
เจ้าอนุวงศ์ ชวนราชบุตร (โย้) จำปาศักดิ์ รวมพลพรรคขึงขังพร้อมปืน มีด หอก ดาบ สะเยงไกลยกทัพข้ามโขงมา ลวงเจ้าเมืองต่างๆ ตามรายทางอย่างปกปิดว่า อังกฤษรบกับกรุงเทพฯ เราจึงได้ยกทัพโยธามาช่วยใครไม่ฟังฆ่าทันทีชีวีวาย พอถึงเมืองกาฬสินธุ์เขมราช และร้อยเอ็ด สุวรรณภูมิ ตีราบเรียบฆ่าเจ้าเมืองทุกเมืองจนวอดวาย เมือถึงเมืองนครราชสีมาจึงเข้ายึดเมืองนครราชสีมา ในตอนนั้นเจ้าเมืองนครราชสีมาไม่อยู่ชาวเมืองนครราชสีมาสู้ไม่ได้ กองทัพเวียงจันทน์ต้อนไพร่พลผู้คนทั้งชายหญิง เห็นผู้หญิงทำอย่างว่าตาเป็นมัน คุณหญิงโมถูกต้อนไปกับชาวเมืองไปยังทุ่งสัมฤทธิ์ หญิงไทยที่ถูกต้อนไปยอมเป็นเมียตามใจกองทัพลาว คุณหญิงโมและชาวเมืองพอได้โอกาสก็ฮึดสู้ใช้มีดแทงคอและฟันทัพลาว ฝ่ายพระภักดีชุมพล (แล) ได้ทราบข่าวได้รวบรวมกำลังยกทัพไปตีทับลาวขนาบข้างทัพลาวไต้แตกกระเจิงกลับเวียงจันทน์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงทราบข่าวได้ทรงพิจารณาถึงคุณงามความดีที่คุณหญิงโมและพระภักดีชุมพล (แล) จึงโปรดเกล้าฯ ปูนบำเหน็จให้คุณหญิงโมเป็น “ท้าวสุรนารี” ให้พระภักดีขุมพล (แล)เป็น “พระยาภักดีชุมพล” (แล) ต่อมาในปีเดียวกันเจ้าอนุวงศ์ฯ ได้กำเริบซ่องสุมนำกองทัพเข้าตีเมืองชัยภูมิจับพระยาภักดีชุมพล (แล) มัด ฝ่ายพระยาภักดีชุมพล (แล) ขอร้องว่า ช้าก่อนขอเวลาพันธนา โปรดแก้ก่อนเจ้าอนุวงศ์ฯ สั่งให้ทหารแก้พันธนาออก ให้ตัดสินใจว่าจะเข้ากับเวียงจันทน์ไม่ต้องตาย
พระยาภักดีชุมพล (แล) ได้จุดเทียนบูชาพระได้อธิษฐานว่า “ขอเดชะเราไม่ผิดดังมั่นหมาย มันฆ่าเราให้ถูกฆ่าตกตามตาย ให้วางวายในชาตินี้ แล้วดีใจเราไม่ยอมทำชั่วในเมืองนี้ เรายอมพลีชีวิต จิตสดใสเจ้าอนุวงศ์ฯ สั่งประหารพระยาภักดีชุมพล (แล) ณ ริมหนองปลาเฒ่า บริเวณต้นมะขามใหญ่
ครั้นต่อมา ทัพกรุงเทพฯ ยกทัพไปปราบกบฏกองทัพเวียงจันทน์เจ้าอนุวงศ์ฯ ถูกปราบขอขมาไม่เมตตาคนชั่ว ตัดหัวให้ตายไป เจ้าพ่อพญาแลได้พูดอะไรก็ศักดิ์สิทธิ์
หลังจากพระยาภักดีชุมพล (แล) ได้เสียชีวิตแล้ว ชาวชัยภูมิได้ร่วมกันปลูกสร้างศาลตาปู่ หรือศาลเพียงตาขึ้น ณ บริเวณใต้ตันมะขามใหญ่ บริเวณที่พระยาภักดีชุมพล (แล) ถูกฆ่าดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งคนทั้งหลายจะเรียกกันติดปากว่า “ศาลเจ้าพ่อพญาแล”
พระไกรสิงหนาท เจ้าเมืองเกษตรสมบูรณ์
พระไกรสิงหนาท เจ้าเมืองเกษตรสมบูรณ์คนแรก เป็นคนเชื้อชาติลาว เป็นหลานเจ้า อนุวงศ์เวียงจันทน์ เป็นหนึ่งในควาญช้างที่อพยพมาตั้งหมู่บ้านที่บ้านลาด (อำเภอภูเขียวปัจจุบัน)
เมื่อครั้งเหตุการณ์สงครามระหว่างกรุงธนบุรี กับกรุงศรีสัตนาคนหุต พุทธศักราช ๒๓๒๕ รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าให้ยกหมู่บ้านลาดเป็นเมือง พระราชทานนามให้ว่า “เมืองภูเขียว” และโปรดเกล้าฯให้นามควาญช้าง ๒ คนที่มีส่วนร่วม ในการทำสงคราม ท่านหนึ่งทรงตั้งให้เป็น พระภิรมย์ไกรภักดิ์ และอีกท่านหนึ่ง คือ ขุนไกรสิงหนาท พุทธศักราช ๒๓๓๗ ขุนไกรสิงหนาท ได้จับช้างรูปงามลักษณะถูกถ้วนตามตำรับ คชลักษณ์ที่ป่าภูเขียวได้นำทูลเกล้าถวายแต่พระเจ้ากรุงสยาม ขุนไกรสิงหนาทได้รับ พระราชทานปูนบำเหน็จความชอบให้เป็นพระไกรสิงหนาทและให้ครองเมืองเกษตรสมบูรณ์ ท่านพระไกรสิงหนาทเป็นผู้มีความสามารถปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข มีความซื่อสัตย์ และมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรีเสมอมาเฉกเช่นเดียวกับเจ้าพ่อพญาแล เป็นต้นสกุล ฦาชา
พระฤทธิฦาชัย (พล) เจ้าเมืองบำเหน็จณรงค์
พระฤทธิฦาชัย (พล) เป็นกัลยาณมิตรที่ดีคนหนึ่งของพระยาภักดีชุมพล (แล)
เมื่อครั้งมีตำแหน่งเป็นขุนพล เป็นผู้มีความรู้ดีจึงได้รับการแต่งตั้งไปเป็นผู้ดูแลกรมการเมืองขุขันธ์ สามารถพูดภาษาลาวได้ดี ขุนพลและขุนภักดีชุมพล อันหมายถึงเจ้าพ่อ พญาแลจะไปมาหาสู่กัน ณ ด่านชวนเป็นประจำและพักค้างแรมอยู่หลายวัน ทั้งสองท่านมี ความสามารถในการคล้องช้าง จึงออกคล้องช้างในป่าแถบรอยต่อภาคอีสานกับภาคกลางอยู่เนือง ๆ เหตุการณ์ในศึกกบฏเจ้าอนุวงศ์ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่ หัวรัชกาลที่ ๓ ว่าขุนพลได้มีส่วนช่วยเหลือในการศึกสงครามเช่นเดียวกับเจ้าพ่อพญาแล พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานบำเหน็จความชอบให้ขุนพล นายด่านชวนเป็นที่ “พระฤทธิฦาชัย” ยกฐานะด่านบ้านชวนขึ้นเป็น “เมืองบำเหน็จณรงค์” แต่งตั้งให้พระฤทธิฦาชัยครองเมืองบำเหน็จณรงค์ตั้งแต่นั้นมา
พระนรินทร์สงคราม (ทองคำ) เจ้าเมืองจัตุรัส (เมืองสี่มุม)
พระนรินทร์สงคราม นามเดิม ทองคำบรรพบุรุษเป็นคนลาวเวียงจันทน์เช่นเดียวกับ ท่านเจ้าพ่อพญาแล เป็นเจ้าเมือง คนแรกของเมืองสี่มุม ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเมืองจัตุรัส
ท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถทางโหราศาสตร์เป็นอย่างดีและมีคาถาประจำตัวอยู่ยงคงกระพันชาตรี ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก ยกย่องท่านว่า อาจารย์คำ
ในเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ พระนรินทร์สงครามได้ต่อสู้อย่างอาจหาญเช่นเดียวกับ เจ้าพ่อพญาแลแต่เพื่อรักษาครัวเรือนของชาวบ้าน ท่านจึงยอมตายในฐานะหัวหน้าแม่ทัพ ยอมให้ถูกจับประหาร และการประหารท่านก็ใช้วิธีแบบโบราณ คือต้องใช้ช้างแทง ท่านจึงจะสิ้นชีวิต เจ้านายในสยามครั้งนั้นเห็นความเสียสละของท่านที่มีต่อลูกบ้านชาวเมืองสี่มุม จึงปูนบำเหน็จให้เป็นพระนรินทร์สงคราม ชาวบ้านชาวเมืองสร้างรูปสักการะบูชาไว้เป็นการรำลึกถึงคุณงามความดี ให้ท่านได้ปกปักษ์รักษาดูแลบ้านเมืองสืบมาช้านาน
หลวงพิชิตสงคราม (ปู่หมื่นอร่ามกำแหง) เจ้าเมืองคอนสาร
คอนสารเป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีเรื่องเล่าว่า มีนายภูมี ชาวเมืองนครไทย เมืองพิษณุโลก ได้นำพรรคพวกมาเที่ยวป่าและล่าสัตว์ตลอดทั้งอาหารจาก ป่านานาชนิด ท่านเห็นว่าบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้ตั้งถิ่นฐานพร้อมนำครัวเรือนผู้ ร่วมเดินทางมาตั้งบ้านแปงเมืองขึ้นและตั้งตนเป็นหัวหน้าหมู่บ้านนั้น ความอุดมสมบูรณ์ของ ป่าคอนสาร มีผึ้ง งาช้างและวัตถุทำดินประสิว เนื่องจากมีถ้ำและภูเขามากมาย ท่านจึงได้นำงาช้าง น้ำผึ้ง และดินประสิวขึ้นถวายเป็นเครื่องบรรณาการต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอด ฟ้าจุฬาโลก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น “หมื่นอร่ามกำแหง” ตำแหน่งนาย หมวดมีหน้าที่รักษาป่า ผึ้งและมูลค้างคาวในเทือกเขาสูง
หลังจากปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข หมื่นอร่ามกำแหงได้เลื่อนยศเป็น “หลวงพิชิตสงคราม” เป็นเจ้าเมืองคอนสารคนแรก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมืองคอนสารถูกยุบมาเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอ ภูเขียว และได้รับการแต่งตั้งเป็นกิ่งอำเภอ คอนสาร เมื่อ พุทธศักราช ๒๕๐๑ และได้ยกฐานะเป็น อำเภอคอนสาร เมื่อ พุทธศักราช ๒๕๐๓ หมื่นอร่ามกำแหง ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหลวงพิชิตสงครามนั้น นอกจาก จะเป็นเจ้าเมืองคนแรกแล้ว ท่านยังเป็นผู้มีเมตตา เปี่ยมด้วยคุณธรรม ปกครองลูกบ้าน ด้วยความรักช่วยเหลือดูแลในยามเจ็บป่วย ท่านจึงได้รับการเคารพบูชา จนชาวบ้านได้สร้าง อนุสาวรีย์ของท่านไว้กราบไหว้ บูชาและขอพร
ปู่ ด้วง
ปู่ด้วงเป็นชาวบ้านอำเภอขุขันธุ์ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อแต่งงานแล้วมีบุตรด้วยกัน ๒ คน ต่อมาอพยพจากบ้านเดิมมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านตาดโตน ตำบลนาฝาย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ มีฐานะมั่นคง มั่งมี
เมื่อครั้งเจ้าพ่อพญาแลเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ ได้อาศัย ปู่ด้วงนี้เป็นครูบาอาจารย์ ประสิทธิ์ประสาทวิชา เวทมนตร์ คาถาวิชาอาคมให้จนเจ้าพ่อพญาแลมีความเชี่ยวชาญ ประกอบกับท่านเจ้าพ่อพญาแลเป็นผู้มีอำนาจวาสนาสามารถเรียนสำเร็จวิชาอาคมอยู่ยง คงกระพันชาตรี ฟันไม่เข้ายิงไม่ออกเมื่อครั้งเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ ปู่ด้วงพาครอบครัวขึ้น ไปอยู่กลางขุนเขาภูแลนคาซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเก่าย่าดีในปัจจุบัน
ปู่ด้วงสามารถเรียกสัตว์ป่าให้มาเป็นบริวารได้จนได้รับขนานนามจากชาวบ้านว่าเจ้าปู่ แห่งขุนเขา ท่านสามารถรักษาผู้มีอาการเจ็บป่วยด้วยมนต์คาถา จนเป็นที่นับถือของชาวบ้าน มีรูปสักการะของปู่ด้วงไว้สักการะบูชาถึง ๓ แห่งด้วยกัน คือ ช่องสามหมอ น้ำตกตาดโตน และ บ้านเก่าย่าดี เชื่อกันว่าใครได้กราบไหว้ ขอพรแล้ว ได้สมหวังดังตั้งใจทุกคน
ย่าดี
ย่าดี เกิดที่บ้านโสกคลอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ แต่งงานแล้ว มี ลูก ๑ คนได้ย้ายจากบ้าน เดิมมาอยู่บ้านตาดโตน ย่าดีเกิดคนละช่วงเวลากับปู่ด้วง หลังจากปู่ด้วงได้เสีย ชีวิตแล้วประมาณ ๒๐ ปี จึงมีเรื่องย่าดีปรากฏขึ้นดังนี้
ย่าดีอยู่กับสามีและลูกหลานที่บ้านตาดโตน อยู่ร่วมสุขร่วมทุกข์เรื่อยมาจนแก่เฒ่า เมื่อายุมากขึ้นย่าดีเกิดล้มป่วยเป็นไข้ล้มหมอนนอนเสื่อลุกไปไหนมาไหนไม่ได้ เป็นเวลาแรมปี ยาชนิดใดก็ช่วยไม่ได้หมอยาต่างๆ ก็ไม่สามารถรักษาได้ คืนหนึ่งย่าดีฝันไปว่าปู่ด้วงได้เข้าฝัน และถามว่า ต้องการหายหรือไม่ ย่าดีตอบว่าต้องการหาย เพราะยังไม่ได้สร้างบุญสร้างกุศล พอเพียง ต้องการอยู่ทำบุญทำกุศลเสียก่อน ปู่ด้วงเลยบอกว่า ถ้าต้องการหายให้เข้าป่าไป จำศีลภาวนาที่บ้านกลางป่า ซึ่งเป็นบริเวณที่ปู่ด้วงเคยอยู่จำศีลภาวนามาก่อนแล้วจะหายป่วย ย่าดีเล่าให้ญาติพี่น้องฟังพร้อมกับบอกให้พาไปที่ปู่ด้วงเคยจำศีล ญาติพี่น้องจึงทำเปลหามไป พอไปถึงชายป่า ย่าดีก็มีเรี่ยวแรงลุกขึ้นเดินไปเองได้อย่างน่าอัศจรรย์
จากนั้นย่าดีได้อยู่ปฏิบัติธรรมตามแนวทางของปู่ด้วง และย่าดีก็สามารถดูแลรักษาผู้ ป่วยต่างๆ ได้เช่นเดียวกับปู่ด้วง ชาวบ้านเก่าย่าดีจึงได้จัดทำรูปเคารพของย่าดีไว้คู่กับปู่ด้วงไว้ ที่บ้านเก่าย่าดีตั้งแต่นั้นมา
ท้าวบุญมี
ท้าวบุญมีหรือแม่บุญมี เป็นผู้ดีหลวงที่ติดตามเจ้าพ่อพญาแลมาจาก เวียงจันทน์ ท่านมีฝีมือในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้า จึงก่อให้เกิดการทอ ผ้าของหญิงชาวชัยภูมิอย่างมากมายและมีลวดลายสวยงาม ผ้าฝ้ายใน ครัวเรือน และผ้าที่นำไปเป็นเครื่องบรรณาการต่อราชสำนักเสมอมา
เหตุการณ์สำคัญ
อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ ตั้งอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว
ตำนานเรื่องเล่า
ประวัติเมืองชัยภูมิ ตามพงศาวดารกล่าวว่า เดิมเป็นเมืองร้างอยู่ก่อนเห็นจะพร้อมๆ กับเมืองพิมายเพราะมีปรางค์กู่เก่าๆอยู่หลายแห่งสร้างด้วยศิลาแลงคงจะเป็นเมืองหนึ่งที่รุ่งเรืองสมัยขอม
ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรุงศรีอยุธยา ว่าเคยเป็นเมืองขึ้นนครราชสีมามาก่อนและชาวจังหวัดนี้ส่วนมากมีเชื้อสายสืบเนื่องมาจากชาวกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทร์) เช่นเดียวกับชาวจังหวัดเลยและอำเภอภูเวียงมาก่อน แต่ยังมีราษฎรบางส่วนของจังหวัดนครราชสีมาได้มีรกรากอยู่ก่อนแล้ว
ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีชาวเวียงจันทน์ชื่อ ท้าวแล ได้พาครอบครัวพร้อมด้วยพรรคพวกอพยพมาตั้งหลักแหล่งประกอบอาชีพอยู่บ้านหนองน้ำขุ่นหนองอีจานภายหลังในจุลศักราช 1181(พ.ศ. 2362) จึงได้ย้ายมาอยู่บ้านซีลอง (โนนน้ำอ้อม) ต่อมามีคนได้อพยพมาอยู่ด้วยเป็นอันมากและตั้งบ้านเรือนเพิ่มขึ้นอีกหลายบ้านอันปรากฏนานมาจนบัดนี้ คือ บ้านแสนพัน (ปัจจุบันกลายเป็นบ้านสัมพันธ์) บ้านบุ่งคล้า กุดตุ้ม บ่อหลุบ บ่อแก โพธิ์หญ้า ท่าเลี้ยง บ้านโพธิ กุดไผ่ ฯลฯ มีชายฉกรรจ์ 700 คน ท้าวแลจึงเกณฑ์เก็บส่วยผ้าขาวคนละวาส่งเวียงจันทน์มีความชอบ เจ้าอนุวงศ์จึงแต่ตั้งท้าวแลให้เป็น “ขุนภักดีชุมพล”
ต่อมาในจุลศักราช 1184 (พ.ศ. 2365) ขุนภักดีชุมพลเห็นว่าที่ตั้งเป็นบ้านเมืองใหญ่ต่อไปไม่เหมาะสมเพราะกันดารน้ำจึงได้ย้ายครอบครัวและผู้คนมาตั้งบ้านใหม่เรียกว่า บ้านหลวง อยู่ระหว่างหนองปลาเฒ่ากับบ้านหนองหลอด ด้วยมีน้าท่าสมบูรณ์ดี และไม่ยอมส่งส่วยเวียงจันทน์อีกต่อไปเพราะเวียงจันทน์ก็เป็นประเทศราชประเทศสยาม ขึ้นต่อกรุงเทพฯ แต่รัชกาลที่ 1 แล้ว จึงเข้าหาเจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าเมืองนครราชสีมาอาสาส่งส่วยเก็บผลเร่งทูลเกล้าฯ ถวาย ในรัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านหลวงขึ้นเป็น เมืองชัยภูมิ ตั้งให้ขุนภักดี (แล) เป็น “พระยาภักดีชุมพล” เจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก พระยาภักดีชุมพล (แล) ได้พบบ่อทองเชิงภูเขาขี้เถ้า ตะวันออกภูเขาดงพญาฝ่อที่ลำห้วยชาด จึงได้เรียกที่ตรงนั้นต่อ ๆ กันมาว่า บ่อทองโข่โล่ ปัจจุบันอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่จะมีทองเหลืองอยู่จนเดี๋ยวนี้หรืออย่างไรนั้น ผู้สนใจโปรดค้นหาดู
พ.ศ. 2369 เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทร์ยกทัพมายึดเมืองนครราชสีมาอยู่ชั่วคราว พระยาภักดีชุมพล (แล) พร้อมด้วยเจ้าเมืองสี่มุม (อำเภอจัตุรัสปัจจุบัน) ได้ยกไพร่พลไปช่วยคุณหญิงโม ตีขนาบกองทัพเจ้าอนุวงศ์แตกพ่าย และในขณะที่กองทัพเจ้าอนุวงศ์ล่าถอยออกจากนครราชสีมา จุดเผาบ้านเมือง กองทัพกรุงทั้งเหนือและใต้รู้ชัดว่าเจ้าอนุวงศ์คิดกู้อิสรภาพแยกจากไทยไม่มีทางจะสู้แล้ว จึงสั่งให้เจ้าสุทธิสาร (โป๋) ผู้เป็นบุตรยกกำลังอีกส่วนหนึ่งล่าถอยจากนครราชสีมาให้ไปยึดเมืองชัยภูมิ เมืองภูเขียวอันเป็นด่านสุดท้ายไว้เป็นกำลังต่อต้านกองทัพกรุง เพราะด้านอื่น ๆ ที่เจ้าอนุฯ ยึดครองไว้แต่แรกนั้นแตกพ่ายหมดสิ้น เมื่อทัพเจ้าสุทธิสร (โป๋) ยกมาถึงเมืองชัยภูมิ ได้เกลี้ยงกล่อมพระยาภักดีชุมพล (แล) ให้คิดการกบฏด้วย แต่พระยาภักดีชุมพล (แล) ไม่ยอมเข้าเป็นพรรคพวกด้วย เพราะยังจงรักภัคดีต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามอยู่ พวกกองทัพเจ้าอนุวงศ์จึงจับฆ่าเสียที่บริเวณหนองปลาเฒ่า ต่อมาชาวเมืองจึงได้สร้างศาลให้เป็นอนุสาวรีย์ไว้ที่หนองปลาเฒ่า แต่ว่าศาลนี้มีทั้งศาลาเก่า ศาลใหม่ ศาลเก่าเป็นไม้ปลุกยื่นลงไปในหนองน้ำผุพังไป ศาลใหม่สร้างก่อด้วยอิฐถือปูนหน้าศาลเก่ามีผู้เคารพนับถือพากันมากราบไหว้บูชากลายเป็นประเพณีประจำมาจนเดี๋ยวนี้
เมื่อเจ้าเมืองชัยภูมิว่างลงจึงโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวเกต คนบ้านคลองสายบัว (ท่าจะมีความชอบอะไรสักอย่างมาก่อน) เป็นพระยาภักดีชุมพลเจ้าเมืองชัยภูมิแล้วย้ายเมืองมาอยู่ โนนปอปิด พระภักดีชุมพล (เกต) รับราชการมาได้ 15 ปีก็ถึงแก่กรรม
เจ้าเมืองชัยภูมิลำดับต่อจากพระภักดีชุมพล (เกต) จะมีกี่คนและเป็นผู้ใดบ้างหาหลักฐานไม่ได้จนในจุลศักราช 1207 (พ.ศ. 2388) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้ง หลวงปลัด (เบี้ยว) กรมการเมืองชัยภูมิเป็นพระยาภักดีชุมพล เจ้าเมืองชัยภูมิ และรับราชการอยู่ 18 ปี ก็ถึงแก่กรรม ในระยะนี้บ้านเมืองเกิดอดอยากยากแค้น ผู้คนพลเมืองระส่ำระสายอพยพไปอยู่ที่อื่นกันมากจนเกือบเป็นเมืองร้าง และยังไม่โปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดเป็นเจ้าเมือง
ครั้นจุลศักราช 1225 (พ.ศ. 2406) พระยากำแหงสงคราม (เฆม) เจ้าเมืองนครราชสีมา ได้แต่งตั้งกรมการออกสืบสวนเหตุการณ์ยังเมืองชัยภูมิก็ได้ความว่ายังมีบุตรหลานผู้เป็นขุนนางเก่าคงอยู่ คือ หลวงวิเศษภักดี (ที) บุตรพระยาภักดีชุมพล (แล) หลวงยกกระบัตร (บุญจันทน์) บุตรพระภักดีชุมพล (เกต) หลวงขจรนพคุณ บุตรพระยาภักดีชุมพล (เบี้ยว) จึงได้พาตัวเข้าทูลละอองธุลีพระบาทในรัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้หลวงวิเศษภักดี (ที) เป็นพระภักดีชุมพล เจ้าเมืองชัยภูมิสืบต่อ ให้หลวงยกกระบัตร (บุญจันทน์) เป็นหลวงปลัด ให้หลวงขจรนพคุณ เป็นหลวงยกกระบัตร คณะกรรมการเมืองชัยภูมิต่อไป
พระภักดีชุมพล (ที) ได้ย้ายเมืองชัยภูมิมาตั้งที่ บ้านหินตั้ง รับราชการอยู่ได้ 12 ปีก็ถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯ ให้หลวงปลัด (บุญจันทน์) เป็นพระภักดีชุมพล เจ้าเมืองชัยภูมิแทน ได้เป็นเจ้าเมืองอยู่ 13 ปี ก็ถึงแก่กรรม
ครั้น พ.ศ. 2431 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ หลวงภักดีสุนทร (บุตรหลวงขจรนพคุณ) เป็นพระภักดีชุมพลเจ้าเมืองชัยภูมิสืบต่อ จนกระทั่งปลดชราได้เบี้ยหวัดปีละชั่ง ต่อจากนั้นมาโปรดเกล้าฯ ให้ร้อยโทโต๊ะ จากเมืองนครราชสีมาเป็นข้าหลวงกับราชการเมืองอยู่ได้ 3 ปี แล้วย้ายไปที่อื่น
พ.ศ.2440 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระหฤทัย (บัว) มาเป็นเจ้าเมืองชัยภูมิ ตรงกับสมัยทางการจัดระบอบการปกครองเป็นบริเวณยุบเมืองลงเป็นอำเภอ เวลานั้นเมืองชัยภูมิมีอำเภอปกครอง 5 อำเภอ คือ
1.อำเภอเมืองชัยภูมิ 2. อำเภอภูเขียว
3.อำเภอเกษตรสมบูรณ์ 4.อำเภอจัตุรัส
5.อำเภอบำเหน็จณรงค์ (อำเภอนี้ยุบลงเป็นกิ่งสมัยหนึ่ง แล้วจัดตั้งขึ้นเป็นอำเภอใหม่) ตั้งแต่เลข 2 ถึงเลข 5 เดิมสังกัดเมืองนครราชสีมาเมื่อจัดการปกครองใหม่ จึงได้โอนสังกัดมาขึ้นจังหวัดชัยภูมิ)
ปัจจุบันจังหวัดชัยภูมิ มี 16 อำเภอ ประกอบด้วย 1.อำเภอเมืองชัยภูมิ 2.อำเภอภูเขียว(อำเภอชั้นเอก) 3.อำเภอบ้านแท่น 4.อำเภอเกษตรสมบูรณ์ 5.อำเภอหนองบัวระเหว 6.อำเภอจัตุรัส 7.อำเภอบำเหน็จณรงค์ 8.อำเภอบ้านเขว้า 9.อำเภอคอนสวรรค์ 10.อำเภอคอนสาร 11.อำเภอแก้งคร้อ 12.อำเภอเนินสง่า 13.อำเภอเทพสถิต 14.อำเภอภักดีชุมพล 15.อำเภอซับใหญ่ 16.อำเภอหนองบัวแดง เนื้อที่ 12,778.3 ตารางกิโลเมตรพลเมือง 1,127,423 คน (ข้อมูลที่ทำการปกครองจังหวัดวัยภูมิ ปี พ.ศ.2556)
สำหรับอำเภอภูเขียวนี้ เดิมหาได้อยู่ ณ ที่ปัจจุบันนี้ไม่ได้เคยเป็นหัวเมืองเอกมาก่อน ปรากฏว่าตั้งเป็นเมืองขึ้นในรัชสมัยรัชการที่ 1 กรุงเทพฯ พระยาภิรมย์ไกรภักดิ์ เป็นเจ้าเมือง แต่จะเป็นคนแรกหรือคนที่เท่าใดไม่มีหลักฐานแน่นอน ครั้นมาในสมัยพระยาไกรสีหนาท เจ้าเมืองภูเขียวได้ช้างเผือกพังสีประหลาดจากบ้านสีประหลาด (ท้องที่ตำบลหนองครไทย อำเภอภูเขียวปัจจุบัน) ไปทูลเกล้าถวาย ทรงโปรดฯ ปูนบำเหน็จตามสมควร เวลานั้นเมืองภูเขียวตั้งอยู่ที่บ้านยาง คือที่ตั้งอำเภอเกษตรสมบูรณ์เวลานี้ คงจะเอานามภูเขียวซึ่งเป็นภูเขาลูกหนึ่งที่สูงใหญ่กว่าบรรดาขุนเขาทั้งหลายในเทือกดงพญาฝ่อ มาขนานนามเมืองแต่แรก
ต่อมาสมเด็จพระไกรสิงหนาท ทางการได้จัดการปกครองระบอบ เทศาภิบาลแล้ว จึงได้ยุบเมืองภูเขียวลงเป็นอำเภอขึ้นจังหวัดชัยภูมิ แล้วย้ายที่ว่าการอำเภอจากบ้านยางไปตั้งที่บ้านผักปัง จึงได้เรียกอำเภอผักปังอยู่สมัยหนึ่ง แล้วก็กลับมาเรียกอำเภอภูเขียวตามเดิมจนเดี๋ยวนี้ โดยมีทางหลวงแผ่นดินแยกจากทางสายของแก่น-เลย-เชียงคานที่ กม.80+500 (ชุมแพ) ไปยังอำเภอภูเขียวระยะทาง 20 กิโลเมตรเปิดการจราจรสะดวกแล้ว
ส่วนเมืองเกษตรสมบูรณ์นั้นได้โปรดเกล้าฯให้ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยยกฐานะบ้านลาด (ตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียว) ขึ้นเป็น “เมืองเกษตรสมบูรณ์” จนต่อเมื่อทางการย้ายอำเภอภูเขียวจากบ้านยางไปตั้งที่บ้านผักปังดังกล่าวมาแล้ว จึงได้ยุบเมืองเกษตรสมบูรณ์ลงเป็นอำเภอเกษตรสมบูรณ์ และต่อมาก็ยุบลงเป็นกิ่งแล้วจึงได้ย้ายกิ่งอำเภอเกษตรสมบูรณ์จากบ้านลาดไปตั้งที่บ้านยาง ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองภูเขียวหรืออำเภอภูเขียวเดิม เรียกว่า “กิ่งอำเภอบ้านยาง” สังกัดอำเภอภูเขียว ต่อมาจึงได้ยกฐานะกิ่งอำเภอบ้านยางขึ้นเป็น “อำเภอเกษตรสมบูรณ์” ตามเดิมจนบัดนี้
ที่จริงอำเภอเกษตรสมบูรณ์ควรจะได้นามว่า “อำเภอภูเขียว” เพราะตั้งอยู่ใกล้ชิดภูเขากว่าอำเภอภูเขียวปัจจุบัน ส่วนที่ตั้งอำเภอภูเขียว (บ้านผักปัง) เดี๋ยวนี้ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเกษตรสมบูรณ์ไปทางทิศตะวันออกเป็นระยะทาง 22 กิโลเมตร มีทางหลวงแผ่นดินเชื่อมต่อจากอำเภอนี้ไปยังอำเภอภูเขียว-อำเภอแก้งคร้อ (เป็นอำเภอที่ตั้งขึ้นใหม่) ผ่านช่องสามหมอไปจังหวัดชัยภูมิ เดิมกรมทางหลวงมีโครงการจะตัดถนนจากจังหวัดชัยภูมิตรงไปอำเภอเกษตรสมบูรณ์ทีเดียว แต่ทางที่จะผ่านไปเป็นเทือกเขาภูอ้ายด้วงไม่ทันการ เพราะประชาชนผ่านไปมาทางช่องสามหมอ ทางอำเภอแก้งคร้อซึ่งเดิมก็เป็นทางลำลองหรือทางเกวียนพอให้รถยนต์ขนส่งไปมาสะดวกเฉพาะในฤดูแล้ง ต่อมาเมื่อทำเลค้าขายสินค้าไปมาทางภาคกลางสะดวกยิ่งขึ้น อำแก้งคร้อ จึงได้เกิดขึ้นระยะนี้ ส่วนโครงการที่จะตัดถนนจากชัยภูมิตรงไปอำเภอเกษตรสมบูรณ์อีกหรืออย่างไรนั้น เป็นนโยบายของทางการจะต้องพิจารณาอีกครั้ง
จังหวัดชัยภูมิมีปูชนียสถานสำคัญอยู่แห่งหนึ่ง ในท้องที่ตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียวห่างจากทางหลวงสายชุมแพ ภูเขียว โดยแยกตรงกิโลเมตรที่ 13 + 600 (บ้านหนองสองห้อง) ประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นถนนลูกรังขรุขระอยู่บ้าง เพราะสร้างขึ้น ด้วยแรงของชาวบ้าน เวลานี้เห็นจะเป็นที่รู้จักกันโดยแพร่หลาย บ้างแล้ว ชาวบ้านแถบนี้เรียก ธาตุบ้านแก้ง หรือ ธาตุหนองสามหมื่น ขนาดฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างประมาณ10 เมตร ปริมาณสูง 25 เมตรก่อด้วยอิฐถือปูนได้เอียงทรุดไปบ้าง แต่จะเอียงทรุดเมื่อใดไม่มีใครทราบ ผู้เขียนได้ไปนมัสการและถ่ายภาพส่งไปให้กรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2498
ต้นเรื่องเดิมของพระธาตุหนองสามหมื่นนี้ จากประวัติ เจ้าอธิการวัดหนองสามหมื่น รวบรวมไว้ว่าพระสังข์ทองได้จัดทำไว้เป็นอนุสรณ์ โดยจัดเอากระดูกทิศสมบัติอันล้ำค่าของปู่ย่าตายายมาฝังรวมกันไว้แล้วก่อพระธาตุองค์อื่นๆ เดิมมีกระดิ่งโตพอควรแขวนอยู่บนยอดพระธาตุ แต่มีคนร้ายใช้ปืนยิงยอดพระธาตุหักมาเพื่อจะเอากระดิ่งไปเสีย เพราะขนาดนั้นพระธาตุมีป่าต้นไม้ขึ้นรกรุงรัง ห่างจากชุมชนและขาดการบำรุงรักษา แต่เวลานี้มีหลวงพ่อศรีทัด (อิปสฺสโน) ได้เป็นหัวหน้าและเป็นอธิการวัดพระธาตุหนองสามหมื่น ปฏิสังขรณ์ให้ดี สะอาด กว้างขวางร่มรื่นสวยงาม หากไม่มีของเก่าเหลือไว้ก็แทบจำไม่ได้ เกี่ยวกับพระธาตุนี้ ยังเล่ากันต่อๆมาอีกว่า เมื่อถึงคืนวันเพ็ญฤกษ์งามยามดีจะมีแสงมรกตส่องวาบวูบเป็นทางรอบๆพระธาตุและเชื่อกันว่าผู้มีบุญเท่านั้นจึงจะได้มีโอกาสได้เห็น
ฝีมือหลวงพ่อศรีทัด ซึ่งเป็นทั้งนักสถาปนิกและพัฒนาการไปพร้อมที่ผู้เขียนได้ไปเห็นมาในตอนหลัง (พ.ศ.2508) มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นข้อเตือนจิตใจให้คนเราตั้งอยู่ในศิลธรรม เว้นความชั่ว ประพฤติแต่ความดี เป็นต้นว่า รอบๆ กำแพงที่สร้างขึ้นใหม่มีภาพสลักนูนเรื่องพระมาลัยตอนลงไปโปรดสัตว์ในขุมนรก ดูแล้วเกิดความรู้สึก หลายประการ ซาบซึ้งและหวาดหวั่นไปพร้อมๆกัน แต่ละภาพเป็นภาพของคนที่มีชีวิตอยู่ได้ทำบาปเอาไว้ เมื่อตายไปแล้วต้องได้รับกรรม เป็นต้นว่า คนที่เคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เมื่อตายไปแล้วสภาพของร่างกายก็เปลี่ยนศีรษะเป็นสัตว์ที่ตนเคยฆ่า คนที่ชอบดื่มสุรายาเมาเป็นอาจิณแล้วพาลเกเรก็ไปนั่งดื่มน้ำเดือดๆในกระทะทองแดง คนที่ฆ่าพ่อตีแม่ก็จะเท้าโตเท่าใบตาลฯลฯ ภาพเหล่านี้หลวงพ่อยังกะโครงการที่จะสร้างขึ้นมีอยู่ไม่น้อยกว่า 400 ภาพภายในกำแพงเวียงเช่นเดียวกัน หลวงพ่ออธิบายว่าสวรรค์นั้นมีอยู่ถึง 16 ชั้น ถ้าใครทำบาปก็ต้องตกนรกได้รับโทษดังภาพตามกำแพงเวียงนั้น
นอกจากรูปสลักเกี่ยวกับสวรรค์นรกแล้วยังมีรูปปั้นพระสังข์ทองกำลังตีคลีและรูปเจ้าเมืองร้อยเอ็ดที่เข้ามาเลือกคู่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องสังข์ทองที่เราเคยเรียนในชั้นประถมและมัธยมตอนต้นมาแล้วนั้นเอง
ห่างจากบริเวณหมู่บ้านแก้งไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กม. เป็นอุโมงค์สลักด้วยหินเป็นรูปเจ้าเงาะกับนางรจนาติดไว้ ลักษณะของอุโมงค์พออาศัยอยู่ได้ 2 คน และทางจากบ้านไปคดงอ วกไปวนมาจนกระทั่งถึงชาวบ้านเรียกว่า “หนทางไปบ้านเจ้าเงาะ” ที่แห่งนี้จึงมีนิทานเรื่องสังข์ทองเล่าสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ผู้เขียนขอนำคำกลอนพื้นบ้านเรื่องสังข์ทองจำเขามาได้อยู่ตอนหนึ่ง ดังนี้
ยังมีเมืองหนึ่งนั่นเรียกชื่อพารานครหรือพาราณสีแห่งนครแถวนั้นมีภูเขาหลวงกั้นทางเหนือยาวย่านทางใต้นั้นเขาซ้อนซับกัน บางลูกนั้นโดดเดี่ยวเป็นสัญญา บูรพามองเห็นแห่งเขาเก้า ภูตะเภา มาขั้นทางกลางเป็นลดหลั่น ความสัมพันธ์ครั้งพุ่นบุญนั่นจ่องมา มีพญาหนึ่งนั่นเอิ้นชื่อว่า สามล นางมณฑามิ่งขวัญเมียแก้วปกครองแคว้นแดนดินซิ่นต่อน พารานครใหญ่กว้างเมืองนี้อยู่สบาย บ่เคยเกิดเหตุฮ้ายฮ้อนทุกข์ แนวใดอันตรายโพยภัยแม่นบ่เคยมาต้อง เคยเป็นเคหาห้องสามลตั้งแต่เก่า เป็นบ้านกกบ้านเค้านิทานก้อมเล่ามา สามลท้าวมีบุตรีหลายขนาดสวยเลิศล้ำงามแท้หล่อเหลา มี 7คน คนลูกเต้าแนวหน่อกษัตริย์ สมกับเป็นพญานั่งปองเป็นเจ้าทั้งมเหสีเหง่ามณฑาชมชื่น แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองนี้แต่เดิม ลูกสาวน้อยน้องหล่านามว่า รจนาผิวโสภาเพียงจันทร์อ่อนละไมใจกล้า ปรารถนาสินสร้างบุญทานบ่ได้ขาด บุญซ่อนยู้นางนี่ต่างคน…
ใกล้ ๆ องค์พระธาตุเป็นลานกว้างสะอาด เห็นองค์พระไสยาสน์ยาวถึง 20 วา สูง 5 วา ได้สัดส่วนโดยฝีมือหลวงพ่อศรีทัดฯ สร้างด้วยปูนซีเมนต์เสริมเหล็ก ด้านหน้าองค์พระธาตุมีรูปปั้นพระราหูอมจันทร์ และท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 หมอบเฝ้าอยู่ปลายพระบาทเป็นรูปฤาษี ซึ่งฤาษีรูปนี้หลวงพ่อเล่าว่าอยู่ในถ้ำเขาพังเหย ลํานารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี หลวงพ่อได้มีโอกาสพบฤาษีรูปนี้ก่อนที่จะปฏิสังขรณ์วัดนี้ ฤาษีใจบุญรูปนี้ยังได้ บอกยายวิเศษต่างๆให้กับหลวงพ่อมาด้วยท่านผู้สนใจไปขอได้
ข้างทิศตะวันตกองค์พระธาตุประมาณ 500 เมตร มีหนองน้ำขนาดใหญ่กว้างประมาณ 50 เส้น ยาว 100 เส้น น้ำมีตลอดปี ฤดูน้ำมากลึก 10 เมตรเศษ ฤดูแล้งลึก 7-8 เมตร มี จระเข้ และปลาน้ำจืด ชุมที่สุด แต่จระเข้ไม่ปรากฏว่าทำร้ายคน มีสายน้ำไหลจากบึงนี้ไปสู่ ลำน้ำพรม ด้านใต้เรียกว่า กุดธาตุ หรือ หนองสามหมื่น กล่าวว่าพระสังข์ตีคลีตกลงไปหนองแห่งนี้ จนต้องใช้คนถึงสามหมื่นคนลงไปงมจึงได้ลูกคลีมา ทิศเหนือ จากตัวพระธาตุประมาณ 20 เส้น เป็น ลานหญ้ากว้างใหญ่ ชาวบ้านเรียก ทุ่งหม่าน เป็นทุ่งพระสังข์ทองตีคลีกับพระอินทร์ กาลผ่านมาได้มีประชาชนที่ใกล้และไกลจัดเป็นประเพณีนิยม โดยถือเอาเดือน 5 ขึ้น 13 -14 ค่ำของทุกปี จัดเป็นงานใหญ่ฉลองพระธาตุ มีการออกร้านปิดทองพระสรงน้ำพระธาตุ กีฬามวย ตลอดการละเล่นของชาวบ้านพื้นเมือง เช่น ไม้หึ่ง ตีคลี สะบ้า มอญซ่อนผ้า ม้าหางแดง สุนัขไล่หาง ฯลฯ นอกจากนี้ได้มีการเซ่นสรวง เจ้าปู่หมื่นตื้น ซึ่งถือว่าเป็นผู้สิงสู่อารักขาพระธาตุตลอด เขตแคว้นภูเขียว ผู้ที่ผ่านไปมาต้องบอกกล่าวเจ้าปู่หมื่นตื้นเสียก่อนเพื่อการไปมาสะดวกและสวัสดิภาพ
ธรณีวิทยาจังหวัดชัยภูมิ
ลักษณะธรณีวิทยาของจังหวัดชัยภูมิประกอบด้วยหินตะกอน หินอัคนี และตะกอนร่วนที่มีอายุตั้งแต่มหายุดพาลี- โอโซอิกตอนปลาย ถึงยุดควอเทอร์นารี (ประมาณ 286 ล้านปี ถึงปัจจุบัน) โดยมีหินตะกอนที่สะสมตัวในทะเลบรรพกาลในมหายุคพาลีโอโซอิกตอนปลายหรือยุคเพอร์เมียนเป็นฐานรองรับหินตะกอนกลุ่มหินโคราชที่สะสมตัวบนแผ่นดินในยุค มีโซโซอิก
ลำดับชั้นหิน
- หินยุคเพอร์เมียนตอนล่างถึงตอนกลาง
หินตะกอนที่สะสมตัวในสภาพแวดล้อมโบราณแบบทะเลตื้น น้ำอุ่น ปรากฏในพื้นที่ทางตอนเหนือของจังหวัดชัยภูมิในเขตอำเภอคอนสารและทางตะวันตกเฉียงเหนือในหนองบัวแดง ประกอบด้วยหินชนิดต่าง ๆ ของหมวดหินผานกเค้า ได้แก่ หินปูน หินปูนเนื้อดิน หินปูนปนโตโลไมค์ สีเทาถึงเทาดำ เนื้อละเอียดตกผลึกใหม่บางบริเวณถูกแทนที่ด้วยโดโลไมค์ และซิลิกาแบบเฉพาะที่ ชั้นหินหนาถึงเป็นมวลหิน พบหินเซิร์ตสีน้ำตาลทั้งแบบก้อนและแถบชั้น และพบซากดึกดำบรรพ์ประเภท ฟิวซูลินิต แบรดิโอพอด ไบรโอซัว ไครนอยด์ ปะการัง หอยเจดีย์ และฟองน้ำ
- หินยุคเพอร์เมียนตอนกลาง
หินตะกอนที่สะสมตัวในทะเล และใกล้ชายฝั่ง ได้แก่ หินตะกอนที่สะสมตัวในสภาพแวดล้อมโบราณแบบทะเลตื้นใกล้ฝั่ง ซึ่งขณะสะสมตัวได้รับตะกอนจากแผ่นดินร่วมด้วย ได้เป็นหินปูนเนื้อดิน หินดินดานสลับชั้นด้วยหินปูนเนื้อดิน และสภาพแวดล้อมแบบพื้นที่ชายฝั่งน้ำท่วมถึงซึ่งพบเป็นหินดินดานเนื้อทราย และเป็นบริเวณที่แบรดิโอพอดหรือหอยตะเกียงอาศัยอยู่เนื่องจากกระแสน้ำไม่รุนแรง พบในพื้นที่ทางตอนเหนือของจังหวัดชัยภูมิในเขตอำเภอคอนสาร ประกอบด้วยหินชนิดต่าง ๆ ของหมวดหินหัวนาดำ อำเภอภักดีชุมพล ประกอบด้วยหินชนิดต่าง” ของหมวดหินน้ำคุก มีชั้นเฉียงระดับขนาดเล็กขนาดกลาง มีการคดโค้งมาก มีซิลิเขียสเชื่อมประสาน หินปูนสีเทาถึงเทาเข้ม แสดงชั้นดีและชั้นบาง และหินปูนเป็นเลนส์ พบซากดึกดำบรรพ์ของ ฟิวชลินิด แบรคิโอพอด หอยเจดีย์ ไครนอยด์ แอมโมไนด์ และเศษพืช
- หินยุคไทรแอสสิกตอนบน
เป็นหินตะกอนที่ถูกพัดพาโดยทางน้ำ และสะสมตัวบนแผ่นดิน โดยไม่มีอิทธิพลของน้ำทะเลเข้ามาเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
หินตะกอนที่สะสมตัวในบริเวณที่ราบลุ่มเชิงเขา ในหนองน้ำเล็กๆ ที่มีสารละลายของปูนอยู่สูง สภาพอากาศแบบร้อนชื้นแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นแบบกึ่งแห้งแล้ง ปรากฏทางตอนเหนือของจังหวัดชัยภูมิในเขตอำเภอคอนสาร อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และทางตะวันตกในเขตอำเภอหนองบัวแดงและอำเภอภักดีชุมพล หินชุดนี้จัดอยู่ในหมวดหินห้วยหินลาด ซึ่งเป็นหมวดหินชั้นล่างสุดของกลุ่มหินโคราช
หินตะกอนที่สะสมตัวในสภาวะแวดล้อมโบราณ ในบริเวณที่ราบลุ่มเชิงเขาในระยะแรกและเปลี่ยนไปเป็นการตกตะกอนในแม่น้ำแบบโค้งตวัด ที่มีกระแสน้ำรุนแรงตามร่องน้ำ และหลังจากนั้นเป็นการตกตะกอนบริเวณสองฝั่งของที่ราบลุ่มแม่น้ำในสภาวะภูมิอากาศที่ด่อนข้างกึ่งแห้งแล้งพบทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดชัยภูมิในเขตอำเภอดอนสาร และอำเภอหนองบัวแดง หินชุดนี้จัดอยู่ในหมวดหินน้ำพอง
- หินยุคจูแรสสิก
เป็นหินตะกอนที่สะสมตัวในสภาวะแวดล้อมโบราณบนแผ่นดิน โดยการพัดพาตะกอนของแม่น้ำโค้งตวัด เกิดการทับทมของตะกอนทั้งในแม่น้ำ ที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงสองฝั่งแม่น้ำ หนอง และบึง ในสภาพอากาศกึ่งแห้งแล้ง ปรากฏทางตอนเหนือของจังหวัดชัยภูมิในเขตอำเภอคอนสาร อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอหนองบัวแดง ทางตะวันตกในเขตอำเภอภักดีชุมพล และทางตะวันออกเฉียงเหนือในเขตอำเภอภูเขียว อำเภอบ้านแท่น และอำเภอแก้งคร้อ หินชุดนี้จัดอยู่ในหมวดหินภูกระดึงของกลุ่มหินโคราช
- หินยุคจูแรสสิกถึงครีเทเชียส
เป็นหินตะกอนที่สะสมตัวในสภาวะแวดล้อมโบราณบนแผ่นดินโดยการพัดพาตะกอนของแม่น้ำประสานสาย และแม่น้ำโค้งตวัด เกิดการทับทมของตะกอนทั้งในแม่น้ำ ที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงสองฝั่งแม่น้ำ หนอง และบึง ในสภาพอากาศกึ่งแห้งแล้ง และร้อนขึ้น หินยุคจูแรสสิกถึงครีเทเชียส ปรากฏทางตอนเหนือของจังหวัดชัยภูมิใน อำเภอหนองบัวแดง ทางตะวันตกในเขตอำเภอภักดีชุมพลทางตะวันออกเฉียงเหนือในเขตอำเภอภูเขียว อำเภอบ้านแท่น และอำเภอแก้งคร้อ และตอนกลางในเขตอำเภอหนองบัวระเหว อำเภอบ้านเขว้า อำเภอเมือง และอำเภอเกษตรสมบูรณ์ ประกอบด้วย หินทรายเนื้อควอรตซ์ หินทรายสีขาว สีขาวแกมเทา เนื้อเม็ดควอรตซ์ มีขนาดเม็ดละเอียดถึงหยาบ การคัดขนาดดีเม็ดค่อนข้างกลม เม็ดกรวด หินชุดนี้ไม่มีชั้นถึงเป็นชั้น การประสานตัวดี แสดงการวางชั้นเฉียงระดับขนาดใหญ่ และมีเม็ดกรวด เรียงตามแนวชั้นเฉียงระดับ หินชุดนี้จัดอยู่ในหมวดหินพระวิหารของกลุ่มหินโคราช
- หินยุคครีเทเชียส
เป็นหินตะกอนที่สะสมตัวบนแผ่นดิน และบางช่วงมีการสะสมตัวของเกลือจากน้ำทะเล แสดงชั้นเฉียงระดับขนาดเล็กมีหินทรายเนื้อปนกรวด และหินดินดานแทรก บางบริเวณมีเนื้อปนปูน เกิดจากการพัดพาตะกอนของแม่น้ำโค้งตวัด เกิดการทับถมของตะกอนทั้งในแม่น้ำ และที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงสองฝั่งแม่น้ำ ในสภาพอากาศกึ่งแห้งแล้ง พบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลัง และหอยกาบคู่ หินชุดนี้กระจายตัวเป็นแนวทิศทางตะวันตกเฉียงเหนือตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอเมือง อำเภอบ้านเขว้า อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอเทพสถิต ถึงอำเภอบำเหน็จณรงค์ หินชุดนี้จัดอยู่ในหมวดหินเสาขัวของกลุ่มหินโคราช
หินทรายเนื้อปนกรวด และหินทราย สีขาว สีเทาจาง สีน้ำตาล และสีน้ำตาลแกมเหลืองจาง ชั้นหนา การคัดขนาดไม่ดี แสดงการวางชั้นเฉียงระดับขนาดใหญ่ และมีเม็ดกรวดเรียงตามแนวชั้นเฉียงระดับ หินชุดนี้จัดอยู่ในหมวดหินภูพานของกลุ่มหินโคราช เกิดโดยการพัดพาตะกอนของแม่น้ำประสานสาย และแม่น้ำโค้งตวัด ที่มีปริมาณและความแรงของน้ำมากกว่าของหมวดหินพระวิหาร ในสภาพอากาศกึ่งแห้งแล้ง และร้อนชื้น พบกระจายตัวเป็นแนวขนานไปกับหมวดหินเสาขัว ตั้งแต่อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอเมือง อำเภอบ้านเขว้าอำเภอหนองบัวระเหว อำเภอซับใหญ่ อำเภอบำเหน็จณรงค์ ถึงอำเภอเทพสถิต
หินทราย หินทรายแป้ง และหินโคลน สีน้ำตาลแกมแดง และสีน้ำตาลแกมม่วง ชั้นบางถึงชั้นหนา การคัดขนาดปานกลาง พบหินกรวดมนเนื้อปูนแทรก เกิดจากการพัดพาตะกอนของแม่น้ำโค้งตวัด เกิดการทับถมของตะกอนทั้งในแม่น้ำ และที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงสองฝั่งแม่น้ำ ในสภาพอากาศกึ่งแห้งแล้ง พบคลุมพื้นที่เป็นแนวขนานไปกับหมวดหินภูพาน ตั้งแต่อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอเมือง อำเภอบ้านเขว้า อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอจัตุรัส อำเภอซับใหญ่ อำเภอบำเหน็จณรงค์ ถึงอำเภอเทพสถิต หินชุดนี้จัดอยู่ในหมวดหินโดกกรวดของกลุ่มหินโคราช
หินโคลน หินทรายแป้ง และหินทราย สีสันแกมแดงเข้ม สีแดงแกมม่วงพบแนวสีจางจนเป็นสีขาวตามรอยแตก เม็ดละเอียด ชั้นบางถึงชั้นหนา มีชั้นเกลือ โพแทช ยิปซัม และแอนไฮไดรค์ เกิดจากการตกตะกอนจากน้ำทะเลในแอ่ง หนอง และบึง รวมกับตะกอนที่พัดพามาจากขอบแอ่งที่อยู่พันน้ำทะเล ในสภาพอากาศแบบแห้งแล้ง หินชุดนี้จัดอยู่ในหมวดหินมหาสารคาม ของกลุ่มหินโคราช พบครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่อำเภอดอนสวรรค์ อำเภอเมือง อำเภอบ้านเขว้า อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอจัตุรัสอำเภอเนินสง่า อำเภอซับใหญ่ และอำเภอบำเหน็จณรงค์
- ตะกอนยุคควอเทอร์นารี
เป็นตะกอนที่ผุพังจากหินต้นกำเนิดแล้วถูกพัดพาจากที่สูงหรือภูเขาทั้งที่อยู่รอบๆ หรือจากหินที่อยู่ในแอ่งโคราชเองโดยทางน้ำปัจจุบัน ทำให้เกิดการสะสมตัวของตะกอนบนหินแข็ง ตะกอนยุดควอเทอร์นารีในเขตจังหวัดชัยภูมิประกอบด้วย
ตะกอนเศษหินเชิงเขา พบทางตอนเหนือของจังหวัดชัยภูมิในเขตอำเภอคอนสาร อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอภูเขียว เกิดจากการผุพังของหินเดิมแบบอยู่กับที่ปิดทับอยู่บนชั้นหินเดิม และอาจถูกพัดพาไปสะสมตัวไม่ไกลจากหินต้นกำเนิด สะสมตัวอยู่ระหว่างแนวภูเขา และที่ราบ หรือตามแนวเชิงเขา และวางตัวรองรับชั้นตะกอนธารน้ำพาในหลายพื้นที่ ประกอบด้วย เศษหินปนดิน ไก้แก่ กรวดทราย ทรายแป้ง ดินเคลย์ บางบริเวณเป็นศิลาแลง ดินลูกรัง มักพบอุลกมณี และไม้กลายเป็นหิน
ตะกอนธารน้ำพา พบทางตอนเหนือ ตะวันออก และตอนใต้ของจังหวัดชัยภูมิ ในเขตอำเภอคอนสาร อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอภูเขียว อำเภอบ้านแท่น อำเภอแก้งคร้อ อำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอจัตุรัส อำเภอบ้านเขว้า อำเภอเมือง และอำเภอดอนสวรรค์ เป็นตะกอนที่สะสมตัวในที่ราบหรือที่ลุ่ม โดยทางน้ำแบบโค้งตวัด ทิศทางของทางน้ำโดยรวมถูกควบคุมด้วยโครงสร้างทางธรณีวิทยา มีแม่น้ำสายสำคัญที่พัดพาคือ แม่น้ำชีซึ่งมีต้นกำเนิดในอำเภอหนองบัวแดง แม่น้ำพรมมีต้นน้ำอยู่ในอำเภอคอนสาร และแม่น้ำเชิญมีต้นน้ำอยู่ในอำเภอชุมแพ ลักษณะตะกอนประกอบด้วยกรวด ทราย ทรายแป้ง และดินเหนียว พบครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอเมือง อำเภอบ้านเขว้า อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอจัตุรัส อำเภอเนินสง่า และอำเภอบำเหน็จณรงค์
หินอัคนี
หินอัดนีในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ประกอบไปด้วยหินภูเขาไฟ และหินตะกอนเถ้าภูเขาไฟได้แก่ หินไรโอไรต์ หินแอนดีไซต์ หินกรวดภูเขาไฟ และหินทัฟฟ้ มีอายุตั้งแต่ยุคเพอร์เมียนตอนปลายถึงยุคไทรแอสชิกตอนกลาง พบในเขตอำเภอคอนสารทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศเหนือของจังหวัด
ธรณีวิทยาโครงสร้าง
ธรณีวิทยาโครงสร้างเป็นผลกระทบที่เกิดจากการเคลื่อนที่และการเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน การเคลื่อนที่ตลอดเวลาของแผ่นเปลือกโลกทำให้เกิดการสะสมแรงเครียดหรือแรงเทคโทนิคบนผิวโลก ทั้งแรงดึง แรงกดดัน และแรงเฉือน ทำให้เปลือกโลกคดโค้งโก่งงอเป็นรูปประทุน และประทุนหงาย และก่อตัวเป็นเทือกเขา หินเกิดรอยแตก รอยแยก และรอยเลื่อนตามมาซึ่งอาจเป็นช่องทางให้หินหลอมละลายใต้ผิวโลกแทรกดันตัวขึ้นมา ผลกระทบจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกอาจทำให้แผ่นดินเลื่อนตัวตามแนวรอยเลื่อนในแนวราบ หรือเลื่อนตัวขึ้นลงในแนวดิ่งซึ่งในกรณีหลัง ทำให้เกิดแอ่งสะสมตะกอนของกล่มหินโคราช เป็นต้น